top of page

มีสงครามมาขายอยากได้ไหม


Summary

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสงครามมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น วาทะกรรมของคำว่า ‘สงคราม’ ยังคงให้ความหมายเชิงลบเเละสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ที่เคยมีประสบการณ์กับสงครามโดยตรงหรือผู้ที่เคยเสพสงครามผ่านสื่อที่นำเสนอความโหดร้ายของมันก็ยังคงมองว่าเป็นสิ่งที่เลวร้าย เช่น การต่อต้านเครื่องหมายสวัสติกะอันเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มทหารนาซี เยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เคยทำสงครามล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอย่างเหี้ยมโหด เป็นต้น เเต่ว่าเมื่อพิจารณาถึงความซับซ้อนที่ปัจจุบันมนุษย์ได้ผนวกสร้างความสัมพันธ์กับสงครามในรูปแบบที่ซับซ้อนและหลากมิติมากขึ้นจะเห็นว่ามนุษยชาติกระชับความสัมพันธ์กับสงครามมากขึ้นจนอาจกล่าวได้ว่า มนุษยชาติเสพสุขจากสงครามและสงครามก็เเทรกอยู่ในทุกอณูกระแสการบริโภคของมนุษย์

 

มีสงครามมาขายอยากได้ไหม

‘สงคราม’ เป็นคำที่อบอวลไปด้วยความเเห้งผากทางศีลธรรม เสียงระเบิด ห่ากระสุน กลิ่นดินปืน ความร้อนรน การดิ้นรน ความโหดร้าย ความอดอยาก ความหวาดกลัว ไปจนถึงสีเเดงฉานบนร่างไร้วิญญาณของพลทหารหรือพลเรือนผู้ตกเป็นเหยื่อของสงคราม สีดำสนิทของห้วงราตรีกาลที่เหล่าทหารศึกต่างก็ภาวนาให้คืนนี้ผ่านพ้นไปด้วยดี หรือสีเขียวบนเครื่องเเบบลายพราง ทั้งหมดล้วนผนวกสร้างให้สงครามเป็นดั่งเหล็กร้อนที่ไม่มีผู้ใดเต็มใจประคับประคองหรือเเม้เเต่พยายามทำความเข้าใจหรือกระชับ ‘ความสัมพันธ์’ กับสิ่งที่ไร้เหตุผล โหดร้ายเเละไม่เคยปราณีผู้ใดเยี่ยงสงคราม แต่ปัจจุบันสงครามมีความใกล้ชิดกับมนุษย์มากขึ้น ซึ่งส่งครามได้มีการแปรรูปจากภาพลักษณ์ที่โหดร้ายกลายมาเป็นเพียงสัญญะเล็ก ๆ ที่แทรกอยู่ในสื่อต่าง ๆ ที่มนุษย์บริโภค

สุรชาติ บำรุงสุข (2541: 9) ให้คำนิยามของสงครามว่า สงคราม คือ การต่อสู้ระหว่างกลุ่มคนโดยวิธีการใช้กำลังหรือโดยวิธีอื่น ๆ สงครามในความหมายเช่นนี้จึงอาจหมายถึงการต่อสู้ระหว่างกลุ่มของสังคมมนุษย์โดยใช้ความรุนแรงหรือการปะทะกันด้วยอาวุธ ดังนั้นสงครามจึงรวมถึง การก่อจลาจล (Riot) หรือการก่อความรุนแรงของปัจเจกบุคคล (Individual Violence) ในลักษณะของการลุกขึ้นต่อสู้ของกลุ่มชนในสังคม (Insurrection) หรือการก่อกบฏ (Rebellion) ซึ่งอาจนำไปสู่สภาพของสงครามกลางเมือง (Civil War) และในทางรัฐศาสตร์ สงคราม หมายถึง การที่รัฐสองรัฐหรือมากกว่าสองรัฐใช้กำลังเข้าต่อสู้กันโดยตรง (ดวงเด่น นุเรมรัมย์. 2547: 111)

สงครามจึงไม่ใช่เพียงแค่การสู้รบกันของกองกำลังทหารเท่านั้น แต่รวมไปถึงการก่อการร้าย การก่อจลาจล หรือแม้กระทั่งการเรียกร้องทางอุดมการณ์ต่าง ๆ หรือการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ก็จัดว่าเป็นสงครามรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ซึ่งประเภทของสงครามเหล่านี้คือ สงครามไม่ตามเเบบ (Irregular War) อันเป็นสงครามที่สู้รบหรือขัดเเย้งกันอย่างไม่เปิดเผย เช่น สงครามเศรษฐกิจ สงครามการเมือง สงครามศาสนา สงครามไซเบอร์ ฯลฯ ซึ่งความขัดแย้งในประเด็นต่าง ๆ ล้วนสามารถเป็นชนวนเหตุที่ก่อให้เกิดสงครามได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางศาสนาและความเชื่อ, อารยธรรมและสังคม, เชื้อชาติ, อุดมการณ์, การเมือง, การปกครอง, เศรษฐกิจ, ทรัพยากร, ดินแดน และผลประโยชน์

คำถามที่ว่า “มีสงครามมาขายอยากได้ไหม?” มันคงดูเป็นคำถามที่ไร้สาระและทุกคนก็คงจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่อยากได้” อย่างแน่นอน แต่ว่าถ้าหากเป็นเกมออนไลน์ที่มีธีมเป็นสงครามบนเกาะร้าง เสื้อผ้าลายพรางที่ทุกคนสวมใส่เพราะเพื่อเสริมภาพลักษณ์อันแข็งแกร่งของตน หรือแม้แต่หนังสงครามอวกาศที่เราซื้อตั๋วเข้าไปดูเพราะเกรงว่าตนจะตกกระแสเหล่านั้นเล่า ทุกคนยังเชื่อว่าตนไม่อยาก “ซื้อสงคราม” อีกหรือไม่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่าสื่อต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามในปัจจุบันส่วนใหญ่มักนำเสนอภาพลักษณ์และสัญญะของสงครามในรูปแบบอำนาจอ่อน (soft power) เพื่อความบันเทิงและเพื่อการค้ามากกว่าการเรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจเสพสื่อเหล่านั้นโดยไม่ทันได้ตระหนักว่าตนกำลังรับภาพลักษณ์ของสงครามในรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากเดิม กล่าวคือ ปัจจุบันสงครามได้เปลี่ยนจากสิ่งที่โหดร้ายกลายมาเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างไร


1. ซื้อ “สงคราม” ใส่ถุง กลับบ้าน

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง อารยธรรมของมนุษยชาติได้พัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดโดยมีสงครามเป็นอัตราเร่งวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีของโลก ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างกาแฟสำเร็จรูปที่เราบริโภค คอมพิวเตอร์ที่เราคุ้นเคย เครื่องบินโดยสาร ไปจนถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อย่างระเบิดขีปนาวุธ เครื่องบินรบ เป็นต้น และโฉมหน้าของสงครามถูกดัดแปลงให้เข้ากับกระแสการบริโภคที่สำคัญของมนุษย์โดยมีสื่อประเภทต่าง ๆ ที่นำเสนอเนื้อหาที่สอดแทรกสัญญะแห่งสงครามเอาไว้อย่างแนบเนียน เช่น วรรณกรรม, หนังสือภาพสำหรับเด็ก, ภาพยนตร์, เกมออนไลน์, แฟชั่นเครื่องแต่งกาย เเละ Music Video เป็นต้น

ซึ่งการบริโภคสงครามในปัจจุบันนั้นสามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยสามารถได้ยกตัวอย่างการบริโภคเกมที่มีธีมแนวสงครามของคนในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

รูปที่ 1 ภาพเกมมือถือแนวสงครามอันดับต้นของโลก


จากรูปที่ 1 คือเกม free fire จากค่าย Garena ค่ายเกมยักษ์ใหญ่ในโซน South East Asia (SEA) ซึ่งค่ายได้ออกมาเปิดเผยว่าเกมแนว Battle Royale บนมือถืออย่างเกม Free Fire ได้สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยการ มียอดผู้เล่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 มากกว่า 610.6 ล้านคน และมีผู้เล่นที่จ่ายเงินสำหรับซื้อไอเท็มในเกมกว่า 73.1 ล้านคน


รูปที่ 2 การเติบโตของยอดดาวน์โหลดเกม free fire ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2020


เกม free fire เป็นเกมมือถือแนวจำลองสถานการณ์การเอาชีวิตรอดจากสมรภูมิรบบนเกาะร้างเพื่อให้ตนเหลืออยู่บนสนามรบเป็นคนสุดท้าย เกมข้างต้นนอกจากจะมีสถิติการดาวน์โหลดของผู้เล่นจำนวนมหาศาลแล้วยังแสดงในเห็นว่าสงครามได้ถูกแปรรูปให้กลายเป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิงของมนุษย์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลเติบโตจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2019 กว่า149.1% หรือมูลค่า 663.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


รูปที่ 3 การเติบโตของมูลค่าเกม free fire ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2020


เกมออนไลน์เป็นเพียงการยกตัวอย่างหนึ่งในสื่อสมัยใหม่ที่มีการนำภาพลักษณ์ของสงครามมาใช้เท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสงครามมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น วาทะกรรมของคำว่า ‘สงคราม’ ยังคงให้ความหมายเชิงลบเเละสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ที่เคยมีประสบการณ์กับสงครามโดยตรงหรือผู้ที่เคยเสพสงครามผ่านสื่อที่นำเสนอความโหดร้ายของมันก็ยังคงมองว่าเป็นสิ่งที่เลวร้าย เช่น การต่อต้านเครื่องหมายสวัสติกะอันเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มทหารนาซีที่เคยทำสงครามล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอย่างเหี้ยมโหด เป็นต้น เเต่ว่าเมื่อพิจารณาถึงความซับซ้อนที่ปัจจุบันมนุษย์ได้ผนวกสร้างความสัมพันธ์กับสงครามในรูปแบบที่ซับซ้อนและหลากมิติมากขึ้นจะเห็นว่ามนุษยชาติกระชับความสัมพันธ์กับสงครามมากขึ้นจนอาจกล่าวได้ว่า มนุษยชาติเสพสุขจากสงครามและสงครามก็เเทรกอยู่ในทุกอณูกระแสการบริโภคของมนุษย์

ปัจจุบันภาพลักษณ์ของสงครามได้เเปรรูปจากภาพความโหดร้ายของการรบราฆ่าฟันอันเป็นการใช้อำนาจเเข็ง (hard power) เเปรเปลี่ยนเป็นรูปแบบของการเสพอำนาจอ่อน (soft power) ที่ดำรงอยู่ในกระเเสบริโภคนิยมของมนุษย์เเละสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเหล่าผู้ผลิตสื่อสงครามเหล่านี้อย่างมหาศาล เช่น วัฒนธรรมการเเต่งกายด้วยเครื่องเเบบลายพราง วัฒนธรรมการผลิตซ้ำเเละการเสพสื่อภาพยนตร์ประเภทสงคราม เป็นต้น ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อหลักได้อย่างหลากหลาย ด้วยการพัฒนาของอินเทอร์เน็ตที่ขยายการเข้าถึงอย่างกว้างขว้าง ทำให้การใช้สื่อสงครามเพื่อความบันเทิงทำได้โดยง่าย

สื่อทุกชนิดล้วนสามารถสะท้อนความคิด ทัศนคติ และส่งผ่านชุดความคิดที่ผู้ผลิตสื่อสะท้อนออกมาได้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ การนำเสนอมุมมองของสงครามทั้งจากประสบการณ์ตรงของผู้ที่ประสบภาวะสงคราม หรือแม้แต่นวนิยายที่แต่งขึ้นจากประสบการณ์ทางอ้อมที่เป็นคำบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งในการแต่งเติมโฉมหน้าของสงครามให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น สื่อสงครามสมัยใหม่สามารถสร้างมุมมองผู้บริโภคที่มีต่อสงครามทั้งในแง่ของการสร้างการตระหนักถึงภาพของสงครามที่ครอบคลุมทั้งเชิงบวกและเชิงลบ รวมถึงผลิตสร้างให้สื่อสงครามกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ให้ความบันเทิงซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ตรงกันข้ามกับวาทะกรรมสงครามที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย อีกทั้งการผลิตสร้างสื่อสงครามในรูปแบบต่าง ๆ ก็ยังอิงอยู่กับปัจจัยทางสังคมที่รายล้อมอยู่ในบริบทของสงครามในประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนนั้น ๆ เช่นประเทศที่ครอบครองอารยของผู้ชนะสงคราม อย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่นิยมผลิตสื่ออันเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้ชนะ เช่น ภาพยนตร์เเนวฮีโร่ วีรบุรุษพิทักษ์โลกจากเหล่าร้าย ภาพยนตร์สารคดีอิงประวัติศาสตร์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของกลุ่มชนผู้ปราชัยที่ขายภาพสงครามในเเง่ของสินค้าให้ความบันเทิง หรือในประเทศไทยมีการจัดเทศกาลวันเด็ก ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญที่จัดประจำทุกปี ทุกปีจะมีการจัดงานเเสดงอาวุธสงครามของกองทัพไทย ได้เเก่ รถถัง ปืนกล เครื่องบินรบ เป็นต้น แต่ในทางตรงข้ามกลุ่มประเทศที่แพ้สงครามก็จะผลิตสร้างสื่อสงครามที่มีเนื้อหาในเชิงโหยหาอดีตและถ่ายทอดเฉพาะผลกระทบของสงคราม (พิสินี ฐิตวิริยะ. 2548: 189)

มนุษย์เสพสื่อภาพของสงครามจากสงครามตามเเบบซึ่งถูกผลิตซ้ำในเเง่ของความเหี้ยมโหดเเละความเเห้งผากทางศีลธรรมที่ปกคลุมไปทั่วสนามรบ เเต่น้อยคนนักที่จะตระหนักว่าเเท้จริงเเล้วมนุษยชาติไม่เคยยุติการเสพสงครามลงง่าย ๆ เพราะโฉมหน้าของสงครามที่เปลี่ยนไปสามารถสร้างสุขให้มนุษย์ได้ไม่รู้จบ ปัจจุบันสงครามเปรียบเสมือนอาหารจานหลักที่ผู้สร้างสามารถปรุงเเต่งให้เป็นสิ่งต่าง ๆ ให้ประชาชนเลือกบริโภคได้ตามใจปรารถนา เช่น สงครามอาจมีรสขมเมื่อมันสะท้อนความโหดร้ายผ่านการเสพสื่อภาพยนตร์สงครามตามเเบบ เช่น เหตุการณ์สมัยสงครามโลก หรือบทสัมภาษณ์ของเหยื่อสงครามเพศหญิงที่เคยถูกทารุณกรรมทางเพศจากสารคดีสงครามที่ฉายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือสงครามอาจมีรสชาติหอมหวานเมื่อเราเสพโฉมหน้าของสงครามที่เเฝงอยู่ในรูปแบบวัฒนธรรมเครื่องเเต่งกายที่ออกเเบบโดยนักออกเเบบชื่อดัง เราพอใจกับความสง่างามของเครื่องเเบบทั้ง ๆ ที่รูปลักษณ์ของเครื่องเเต่งกายเหล่านั้นก็ยังคงเเฝง กลิ่นอายของเหล่าทหารที่ล้มตายในสนามรบ

เมื่อโฉมหน้าของสงครามถูกแปรรูปให้ดำรงอยู่ในกระแสการบริโภคของมนุษย์ แน่นอนว่าโฉมหน้าของเหยื่อ (victim) จากสงครามก็ย่อมแปรเปลี่ยนไปตามรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสงครามเช่นกัน ในอดีตเหยื่อจากสงครามตามแบบล้วนหมายถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม เช่น ทาสที่โดนจับไปเป็นเชลยศึกและถูกบังคับใช้แรงงานอย่างโหดเหี้ยม เหล่าหญิงสาวที่ถูกทารุณกรรมทางเพศโดยทหารข้าศึก หรือผู้ที่ต้องทุกข์ทรมานจากโรคภัยอันเป็นผลกระทบจากระเบิดนิวเคลียร์ เป็นต้น แต่ในปัจจุบันเหยื่อจากสงครามได้แปรเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบของผู้ที่บริโภคสื่อสงครามอันหมายถึงประชาชนทุกคนซึ่งไม่จำกัด อายุ เพศโดยทั้งตั้งใจหรือไม่ตั้งใจเสพสื่อเหล่านั้น ซึ่งวาทะกรรมการเป็นเหยื่อจากสงครามไม่ได้สะท้อนภาพของผู้ที่ได้รับเสียหายแบบในอดีตแต่สะท้อนให้เห็นถึงการหยั่งลึกลงของค่านิยมการบริโภคโดยที่ไม่รู้ตัวของมนุษย์


2. ซื้อ “สงคราม” แถมอะไร

เมื่อสงครามกลายเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิต เกิดเป็นการผลิตซ้ำทำให้ผู้บริโภคเกิดความเคยชินจนมองว่าภาพความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินถูกลดทอนความเจ็บปวดและน่าสลดใจ จนเหลือเพียงแค่สงครามที่ให้ความบันเทิง หรือเสพเพื่อความบันเทิง (leisure) เพียงเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการตอบสนองของมนุษย์ว่าด้วยการด้านชาทางจิตใจ (psychic numbing) เป็นอีกหนึ่งการตอบสนองของมนุษย์ที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความรู้สึก แต่จะแปรผันความตัวเลข คือมนุษย์สามารถให้ความสำคัญกับการสูญเสียหรือความรู้สึกสะเทือนใจหากผู้ได้รับผลกระทบมีเพียงคนเดียวหรือเหตุการณ์การใดก็ตามที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่หากมีจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้นหรือเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดซ้ำ ๆ จะทำให้ความรู้สึกของมนุษย์ลดลงจนเป็นการเพิกเฉยต่อสิ่งนั้น และทั้งสามารถแบ่งพฤติกรรมการเสพสื่อเป็น 3 รูปแบบตามทฤษฎีบริโภคนิยม ดังต่อไปนี้

1. การบริโภคนิยมเพื่อวัฒนธรรม การตอบสนองความต้องการที่ประกอบไปด้วย ความรู้สึก จิตสำนึก ค่านิยม

2. การบริโภคเพื่อแสดงสัญลักษณ์ทางสังคม การแสดงออกทางฐานะทางสังคมเพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับของสังคมนั้น ๆ

3. การบริโภคนิยมตามแบบอย่างโฆษณา การโฆษณาชวนเชื่อที่มีการเชิญชวนให้ใช้บริการหรือซื้อสินค้า

จากที่กล่าวมาข้างต้น สรุปความได้ว่า ผู้บริโภคต้องการบริโภคสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา เสพทุกกระแสที่ได้รับความนิยมเพื่อให้ก้าวล้ำทางสังคมและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น และเมื่อพัฒนาสิ่งใหม่ขึ้นอย่างรวดเร็วผู้บริโภคกลับรู้สึกโหยหาถึงอดีตจนเกิดการหยิบยกเอากระแสที่เคยได้รับความนิยมในอดีตกลับมาผลิตซ้ำให้อยู่ในยุคปัจจุบันแต่เป็นการผลิตซ้ำที่มีความสอดคล้องและสัมพันธ์ควบคู่ไปกับเหตุการณ์บ้านเมือง หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนั้น

เมื่อเป็นดังที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าสื่อมีการผลิตหมุนเวียนจนเกิดเป็นวัฏจักรที่หยิบยกเอาสิ่งเก่ากลับมาบริโภคใหม่ ซึ่งจะปรากฏในสื่อที่คณะผู้จัดทำเลือกมาศึกษา เช่น การที่วรรณกรรมเรื่องปีศาจ โดย เสนีย์ เสาวพงศ์มีการตีพิมพ์ซ้ำในช่วงปี 2563 เป็นเพราะกระเเสสังคมในเวลาเดียวกันนั้นมีประเด็นเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องประชาธิปไตย เช่นเดียวกับตอนที่วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากเหล่านิสินักศึกษาในช่วง 14 ตุลาฯ หรือเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองที่มีการนำมาผลิตซ้ำทั้งในแง่ของผู้ชนะสงครามและฝ่ายที่พ่ายแพ้ เป็นต้น

โดยทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นอาจกล่าวได้ว่าเรานั้นเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในโลกาภิวัติที่สังคมขับเคลื่อนด้วยข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว เห็นได้จากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีที่สร้างมาเพื่อให้ก้าวหน้าทางการแข่งขัน จนเกิดเป็นช่องทาง Social Media เครือข่ายออนไลน์ที่ได้รับความสำคัญและใช้ควบคู่ไปกับชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างขาดไม่ได้ จนในบางครั้งการรับข่าวสารนั้นขาดการกลั่นกรอง เพราะเสพได้ง่าย และผ่านไปเร็ว ซึ่งถือเป็นการเสพความสุขจากสงครามเพียงผิวเผินเท่านั้น และถึงเเม้ว่าสงครามที่สื่อผลิตจะมีเนื้อหาต่อต้านสงคราม (anti-war) หรือใช้สัญญะของสงครามเพื่อเติมความสุขเเต่สุดท้ายเราต่างใช้สงครามเพื่อเป็นเครื่องในการสร้างความสุขให้แก่ตนเอง ดังจะเห็นได้จากรูปภาพดังนี้

รูปที่ 4 การเสพสุขจากสงครามในสื่อ


ดังรูปภาพข้างต้นแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภค ซึ่งเป็นคำตอบที่สามารถบอกได้ว่าเราเสพสุขจากสงครามได้อย่างไร จะเห็นว่าภาพรวมของสื่อยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ซึ่งจะเป็นบรรยากาศของสงครามที่ถูกนำเสนอหรือปรากฎในสื่อนั้น ๆ ได้แก่

1. ประเภทแรกคือสื่อสงครามแบบ Leisure เป็นบรรยากาศของสงครามที่ให้ความบันเทิงและสนุกสนานเพลิดเพลิน

2. ประเภทที่สองคือสื่อสงครามแบบ pressure เป็นบรรยากาศของสงครามที่นำเสนอภาพและให้ความรู้สึกที่ตึงเครียดหรือกดดัน

เมื่อแบ่งบรรยากาศของสงครามในสื่อออกเป็น 2 ประเภท ก็จะได้ภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังที่ปรากฎในรูปที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศของสงครามที่ถึงแม้ว่าจะเป็นแบบ pressure แต่ก็ยังคงมีความเป็น leisure อยู่ด้วย เพราะเมื่อมนุษย์เรามีเวลาว่าง ก็มักจะเลือกสิ่งทีทำให้ตนผ่อนคลาย พึงพอใจและมีความสุข ซึ่งอาจสรุปได้ว่า เราทุกคนล้วนเสพสุขจากสงคราม ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า แม้ว่าจะสื่อสงครามที่ให้ภาพที่กดดันหรือตึงเครียด แต่ก็ยังสามารถเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสนุกสนานและเพลิดเพลินได้ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคที่เลือกรับชมสื่อประเภทนี้เพื่อต้องการเติมเต็มความปรารถนาของตน ซึ่งนำมาซึ่งความพึงพอใจ และความสุขที่ได้ทำเติมเต็มความต้องการของตนเอง


3. “สงคราม” หาซื้อง่ายใกล้บ้านคุณ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการต่อสู้เรียกร้องทางอุดมการณ์เกิดขึ้นมากมาย เช่น การประท้วงต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมด้านสิทธิมนุษยชนและต่อต้านการเหยียดสีผิวในประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างเหตุการณ์ Montgomery bus boycott ในปี ค.ศ. 1955 หรือการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนในปี ค.ศ. 1969 และในประเทศไทยก็มีการเรียกร้องทางการเมืองเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1983 เป็นต้น ที่น่าสนใจคือในปี ค.ศ. 2020 ทั่วโลกมีการออกมาเรียกร้องเรื่องต่อต้านการเหยียดสีผิวโดยการติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์เพื่อแสดงอุดมการณ์และต่อต้านความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งการเรียกร้องนี้เป็นการเรียกร้องเรื่องเดียวกันกับในปี 1955 แต่ในปี 2020 นี้การเรียกร้องไม่ได้จำกัดอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่งแต่กระจายเป็นวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกและการเรียกร้องเหล่านี้ผู้คนไม่จำเป็นต้องออกมาข้างนอกบ้านเพื่อรวมกลุ่มกับคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันก็สามารถก่อสงครามได้ เพราะสังคมในปี 2020 นั้นในสังคงมีสิ่งที่มนุษยชาติในปี 1950s ไม่มีนั้นคือสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียนั่นเอง

สุรชาติ บำรุงสุข (2546: 6) กล่าวว่าสงครามมีวิวัฒนาการควบคู่ไปกับคลื่นความเปลี่ยนแปลงของสังคมตามแนวคิดของอัลวินและไฮดี้ ทอฟเลอร์ นักอนาคตวิทยา ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Third Wave กล่าวคือ ทฤษฎี Third Wave Warfare จะมีส่วนทำให้รูปแบบของสงครามและการรบในศตวรรษหน้าแตกต่างไปจากการรบเดิมในศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างมาก สงครามคลื่นลูกคลื่นที่ 1 คือสงครามในสังคมเกษตรกรรมก่อนการเกิดสงครามกลางเมืองของสหรัฐฯ ทอฟเลอร์ถือว่าเหตุการณ์นี้เปรียบเสมือนรอยต่อระหว่างคลื่นลูกที่ 1 ที่ก้าวเข้าสู่คลื่นลูกที่ 2 หรือสงครามในยุคอุตสาหกรรม อันได้แก่ สงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึง การปะทะกันของกองทัพในสงครามจำกัดขอบเขต เช่น สงครามเวียดนาม เมื่อจบสงครามเย็นมนุษย์ก็ก้าวเข้าสู่สงครามคลื่นลูกที่ 3 นั่นคือ สงครามยุคสารสนเทศ ซึ่งเป็นสงครามในยุคปัจจุบันที่ดำรงอยู่ในอารยธรรมสมัยใหม่ของมนุษย์สืบมา

ในยุคโลกาภิวัติปัจจุบันนี้ตัวแปรสำคัญที่เอื้อให้การต่อสู้ทางอุดมการณ์เป็นการต่อสู้ที่ง่ายขึ้นและสร้าง impact เป็นวงกว้างกว่าการเรียกร้องแบบดั้งเดิมคือ โซเชียลมีเดีย (Social Media) ซึ่งเป็นอาวุธที่ผู้คนในศตวรรษที่ 21 ใช้ประกอบสงครามแทนการจับปืนหรือปาระเบิด การติดแฮชแท็ก (#) เรียกร้องทางอุดมการณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ หรือการรีทวิตข่าวสารที่เป็นการเผยแพร่วลีของกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันให้เป็นที่รู้กันในวงกว้าง ให้ผลลัพท์ที่มีพลังมากกว่าการเกณฑ์ทหารในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทหารอาจไม่ได้เต็มใจเข้าร่วมสมรภูมิรบแต่ถ้าหากต่อสู่กันด้วยอุดมการณ์ทหารที่เข้าร่วมสงครามทุกคนจะเป็นผู้ที่สมยอมการก่อสงครามอย่างสุดหัวใจ เพราะการต่อสู้ในยุคใหม่จะเป็นการต่อสู้ด้วยระบบความเชื่อซึ่งมีพลังมากกว่าการขู่บังคับ ซึ่งการต่อสู้ด้วยข้อมูลข่าวสารนี้เป็นลักษณะการต่อสู้ที่เฉพาะของศตวรรษที่ 21 ที่ศตวรรษก่อนหน้านี้ไม่มี เพราะตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 มีการก้าวเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ที่เชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกันด้วยระบบเครือข่ายออนไลน์และผู้คนก็ใกล้ชิดกับสงครามมากขึ้น อีกทั้งภาพลักษณ์ของสงครามที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ให้ภาพลักษณ์ที่ไม่รุ่นแรง เข้าถึงง่ายและดูไม่มีพิษภัย ต่างจากภาพสงครามตามแบบที่ผู้คนปะทะกันด้วยอาวุธ ดังภาพตัวอย่างต่อไปนี้

รูปที่ 5-7 ลำดับการวิวัฒนาการของสงคราม


จากภาพเมื่อเรียงลำดับสงครามจะพบว่าสงครามพัฒนามาจากสงครามตามแบบ คือสงครามโลก มาเป็นสงครามไม่ตามแบบที่เป็นการก่อการร้าย และสุดท้ายพัฒนาเป็นสงครามการต่อสู่เพื่ออุดมการณ์ เมื่อมองลำดับวิวัฒนาการของสงครามจากภาพข้างต้นจะเห็นว่าสงครามมีการวิวัฒนาการที่แตกต่างจากในอดีตเป็นอย่างมากทั้งในแง่ของวิธีการทำการรบที่พัฒนามาเป็นการปลอดความรุนแรง ผู้นำสงครามของสงครามสามารถเป็นใครก็ได้อาจเป็นเด็กที่มีอุดมการณ์แรงกล้าหรือปัจเจกชนได้ ความน่ากลัวของสงครามได้หายไปอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ เดิมผู้คนเคยหวาดกลัวสงครามด้วยตัวของสงครามเอง แต่ในปัจจุบันความน่ากลัวของสงครามไม่มีอยู่แล้วและถูกแทนที่ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งภาพลักษณ์ของสงครามที่เดิมสงครามเคยถูกมองว่าเป็นการเข้ารบกันของกองกำลังที่สู้รบกันเป็นกลุ่มชนชาติหรือกลุ่มคน เเต่ปัจจุบันจะเห็นว่าสงครามสามารถเกิดขึ้นได้จากการขับเคลื่อนของปัจเจกชนที่ใช้เพียงโซเชียลมีเดียเป็นอาวุธที่คอยขับเคลื่อนสังคมได้ คล้ายกับการค่อย ๆ บีบวงแคบเข้ามาของสงครามที่แม้จะมีหน้าตาที่เล็กลงแต่ยังคงสร้างผลพวงได้คงเดิมหรือมากกว่าได้

สุดท้ายจึงอาจสรุปได้ว่าสงครามมีการวิวัฒนาการ เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจนไม่เหลือเค้าเดิมของความน่ากลัว และแฝงอยู่ในการบริโภคปัจจุบันทั้งนั้น ซึ่งทั้งหมดก็ใกล้ตัวเรามากไม่ต่างอะไรกับการจับจ่ายใช้สอยสงครามที่ทั้งสะดวก ง่าย และใกล้ตัวเราที่สุดในยุคโลกาภิวัติที่ขับเคลื่อนมนุษยชาติด้วยเทคโนโลยีและสังคมออนไลน์นั่นเอง


 

รายการเอกสารอ้างอิง

ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล. (2560). Soft Power. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 , จาก http://www.vijaichina.com/%E0%B8%BAbook-reviews/597


ดวงเด่น นุเรมรัมย์. (2547, มกราคม-เมษายน). สงครามที่เป็นธรรม. เสนาธิปัตย์. 53(1). สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2564, จาก http://www.thaicadet.org/Ethics/JustWar.pdf


ธีวินท์ สุพุทธิกุล. (2563). รำลึกสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง – ฉลองวาทกรรมความเป็นเหยื่อ. สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2564, จาก https://www.the101.world/the-second-world-war-victimhood/


นรินทร์พร สุบรรณพงษ์. (2555). วัฒนธรรมบริโภคนิยมในภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์สำหรับเด็กวัยรุ่นตอนต้น. วิทยานิพนธ์ (นศ.ม.). กรุงเทพฯ: นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์. สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 , จาก http://libdoc.dpu.ac.th/thesis/144682.pdf


พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์พุทธศักราช 2551. (2551, 2 มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม 125 ตอนที่ 42 ก. หน้า 1.


พิสินี ฐิตวิริยะ. (2548). วรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่นกับสงครามโลกครั้งที่สอง. วิทยานิพนธ์ อ.ม. (วรรณคดีเปรียบเทียบ). กรุงเทพฯ: อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, จาก http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/7871


วรมาศ ยวงตระกูล. (2547). วาทกรรมสงครามและสันติภาพในกวีนิพนธ์สงคราม. วิทยานิพธ์ อ.ม. (วรรณคดีเปรียบเทียบ). กรุงเทพฯ: มหาบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2564, จาก http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/59


สุรชาติ บำรุงสุข. (2553, พฤศจิกายน). ปกิณกะสงคราม. ความมั่นคงศึกษา. 85. สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2564, จาก https://www.nia.go.th/FILEROOM/CABFRM01/DRAWER01/GENERAL/DATA0017/00017471.PDF


สุรชาติ บำรุงสุข. (2541). สงคราม: จากยุคบุรพกาลสู่ศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: สถาบันวิถีทรรศน์.

Amarinbooks. (2564). สงครามคืออะไร. สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2564, จาก https://www.amarinbooks.com/wp-content/uploads/2018/10/Info-War-1.pdf


SEA. (2564). Investor Relations. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2564, จาก https://www.sea.com/investor/home



28 views0 comments
bottom of page